วันอังคารที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

การทำฟาร์มเห็ดให้ประสบความสำเร็จ

การบริหารจัดการฟาร์มเห็ดให้ประสบความสำเร็จ
การเพาะเห็ดเป็นอาชีพที่ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลากว่า 60 ปี โดยอาศัยการศึกษาวิจัย ค้นคว้าทั้งในและต่างประเทศ มีการเผยแพร่สู่เกษตรกรและผู้สนใจ ในลักษณะการทำเป็นอาชีพเสริมรายได้กระทั่งพัฒนาไปเป็นอาชีพหลัก มีชาวฟาร์มเห็ดเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก และส่วนหนึ่งก็ล้มเลิกกิจการ ทั้งนี้เนื่องจากขาดการนำความรู้ เทคโนโลยีและประสบการณ์ การใช้ในการบริหารจัดการฟาร์มแบบผสมผสาน ดังนี้ผู้ที่ต้องการเพาะเห็ดให้ประสบความสำเร็จ ควรจะมีการพิจารณาในสิ่งต่อไปนี้
1.การวางแผนขั้นแรก : การคัดเลือกชนิดเห็ด
การคัดเลือกชนิดเห็ดนับว่าเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากจะเป็นตัวกำหนดการวางผังและแผนปฏิบัติที่จะติดตามมา สำหรับรายละเอียดที่ต้องทราบเพื่อให้ประกอบการตัดสินใจมีดังต่อไปนี้
1.1 เห็ดที่จะเพาะต้องได้รับการยอมรับจากผู้บริโภคไม่ว่าจะเป็นเห็ดที่ประชาชนใน พื้นที่มีความคุ้นเคยดีอยู่แล้ว เช่น เห็ดฟาง เห็ดนางฟ้านางรม หรือจะเป็นเห็ดที่นำเข้าจากต่างประเทศและมีการประชาสัมพันธ์ให้รู้จัดทั่วไป และเกิดความนิยมในการบริโภคขึ้นมา เช่น เห็ดหอม เห็ดเข็มทอง
1.2 พื้นที่ หรือสถานที่ตั้งฟาร์ม จะต้องอยู่ไม่ห่างจากตลาดหรือแหล่งรับซื้อ มีการคมนาคมสะดวก
1.3 ตลาด จะต้องมีขนาดใหญ่พอที่จะรองรับผลผลิตที่กำหนดไว้ในเป้าหมายได้
1.4 สภาพภูมิอากาศ และสภาพภูมิประเทศเหมาะสมกับการผลิตเห็ดชนิดที่ต้องการ ทั้งนี้เนื่องจากเห็ดต่างชนิดกันมีความต้องการอุณหภูมิในการเจริญของเส้นใย และการออกดอกไม่เท่ากัน ถ้าสภาพภูมิอากาศโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุณหภูมิไม่เหมาะสมทำให้ต้องมีการปรับ อุณหภูมิ ซึ่งจะทำให้การดำเนินการผลิตยุ่งยากเพิ่มขึ้นไปอีก และมีต้นทุนสูงขึ้นไปด้วย
1.5 วัตถุดิบหรือวัสดุที่ใช้ในการเพาะเห็ด หาง่าย และมีราคาถูกซึ่งในปัจจุบันนี้ ปัญหาอันเนื่องมาจากวัสดุเพาะหายาก กำลังกลายมาเป็นปัญหาสำคัญของการเพาะเห็ดหลายชนิด ทั้งนี้เนื่องจากวัสดุสำหรับเพาะเห็ดหลายอย่าง เช่น ขี้เลื่อยและขี้ฝ้าย มีราคาสูงขึ้น และหายากขึ้นเรื่อง ๆ ปัญหานี้ยิ่งรุนแรงขึ้นถ้าฟาร์มเห็ดตั้งอยู่ในที่ห่างไกลจากแหล่งผลิตวัสดุ เหล่านี้
เมื่อศึกษาข้อมูลโดยละเอียดแล้วจะสามารถนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจว่าเลือก เพาะเห็ดชนิดใดก็ได้ และจัดทำแผนการตลาดประจำปีไว้ล่วงหน้า เพื่อทำแผนการผลิตเห็ดประจำปี โดยกำหนดปริมารงาน และกำหนดเวลาปฏิบัติได้เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างมีระบบ
2.การคัดเลือกแม่เชื้อ
การคัดเลือกแม่เชื้อเห็ดเป็นการเตรียมการขั้นตอนแรกของการทำเชื้อ สิ่งที่ควรคำนึงถึง คือ ลักษณะประจำพันธุ์ ได้แก่ ผลผลิต คุณภาพ สี ขนาดดอกและการตอบสนองต่ออุณหภูมิระดับต่างๆ แม่เชื้อเตรียมได้จากเนื้อเยื่อดอกเห็ด แม่เชื้อที่ดีจะต้องมีความบริสุทธิ์ ไม่เป็นโรคติดต่อ จึงมีความจำเป็นในการเอาใจใส่ในการคัดเลือกแม่เชื้อเป็นสำคัญ
3.การทำเชื้อเห็ด
เชื้อเห็ดเป็นสิ่งที่มีความสำคัญในการเพาะเห็ดเป็นอย่างยิ่ง เมื่อได้พันธุ์เห็ดที่มีอัตราการเจริญสูง มีความแข็งแรง เส้นใยเจริญรวดเร็ว ให้ผลผลิตตรงตามความต้องการของตลาด ก็นำมาเพาะในวัสดุที่ปราศจากการปนเปื้อน ผ่านการบ่ม และเก็บรักษาอย่างถูกวิธี
4.การจัดเตรียมวัสดุเพาะเห็ด
การเตรียมวัสดุเพาะเห็ดมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามชนิดของเห็ดที่จะทำการ เพาะ พอจะแยกกว้างๆ ออกได้เป็นการเตรียมวัสดุที่จำเป็นต้องหมัก เช่น การทำปุ๋ยเพาะเห็ดฟางในโรงเรือนแบบอุตสาหกรรม หรือปุ๋ยเพาะเห็ดแชมปิญอง หรือแม้กระทั่งขี้เลื่อยไม้เบญจพรรรซึ่งจำเป็นต้องกองหมักทิ้งไว้ก่อน ส่วนการเตรียมวัสดุอีกประเภทหนึ่ง ได้แก่ วัสดุที่ไม่จำเป็นต้องหมัก เช่น ฟางสำหรับเพาะเห็ดฟางแบบกองเตี้ย และขี้เลื่อยไม้ยางพารา สำหรับเพาะเห็ดถุงชนิดต่างๆ เป็นต้น
ในการเตรียมวัสดุที่จะต้องหมักนั้น ขั้นตอนต่างๆ ของการหมักธาตุอาหารที่ต้องใส่เพื่ม วิธี และเวลาในการกลับกอง การให้ความชื้น ความเป็นกรดเป็นด่างที่เหมาะสมลักษณะทางกายภาพและคุณสมบัติทางเคมีหรือธาตุ อาหารของปุ๋ย เมื่อกระบวนการสิ้นสุดลง ความหนาบางของชั้นปุ๋ยเมื่อใส่บนชั้นในโรงเรือนอุณหภูมิและระยะเวลาที่เหมาะ สมในการอบไอน้ำเพื่อที่จะกำจัดศัตรูเห็ด รวมทั้งการปรับสภาพปุ๋ยหมักให้เหมาะสมกับชนิดเห็ดที่จะเพาะเป็นสิ่งสำคัญที่ ควรจะทราบ
ส่วนวัสดุที่ไม่ต้องหมักนั้น ข้อมูลสำคัญที่จำเป็นต้องทราบได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ ลักษณะทางเคมี อันได้แก่ ความเป็นกรดเป็นด่าง ปริมาณธาตุอาหาร การเติมอาหารเสริม ระดับความชื้น การบรรจุถุง และการนึ่งฆ่าเชื้อเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เพราะมีผลกระทบต่อผลผลิตและความเสียหายอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนโดยเชื้อ จุลินทรีย์ชนิดอื่น วิธีการใส่เชื้อ และระบบการใส่เชื้อซึ่งแตกต่างกันไปตามชนิดเห็ด เชื้อเห็ดบางชนิดต้องการความระมัดระวังอย่างยิ่งในการใส่เชื้อลงในถุง มิฉะนั้นแล้วจะเกิดการปนเปื้อนเสียหาย เช่น เห็ดหอม
5.การดูแลรักษา
เริ่มตั้งแต่การบ่มเชื้อ การบังคับให้ออกดอก การให้น้ำ และการเก็บดอก ข้อมูลที่จำเป็นต้องทราบได้แก่สภาพแวดล้อมที่เหมาะส่ม เช่น ปริมาณก๊าซออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ อุณหภูมิ ความชื้น ่ความเป็นกรดเป็นด่าง ในระยะความเจริญต่างๆของเห็ดแต่ละชนิด ซึ่งนับว่าจำเป็นในการให้ผลผลิตเป็นอย่างยิ่ง

----------------------------------------------------------------------------------------------------------

เนื่องจากเห็ดเป็นพืชที่ให้ผลตอบแทนต่อหน่วยสูงในระยะเวลาอันรวดเร็ว และชาวฟาร์มเห็ดจะเน้นการผลิตเพียงอย่างเดียวการดูแลรักษาความสะอาดของฟาร์ม จึงถูกละเลยก่อให้เกิดปัญหาการระบาดของโรคแมลง ตลอดจนศัตรูเห็ดชนิดอื่นๆตามมา ผลผลิตที่ได้ลดลงจนถึงขนาดเก็บเห็ดไม่ได้ก็มี การบริหารศัตรูเห็ดจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
การบริหารศัตรูเห็ดไม่ให้ระบาดกระทบต่อผลผลิตเห็ด อันจะทำให้ฟาร์มเห็ดได้รับความเสียหายจำเป็นต้องควบคุมดูแลเอาใจใส่ทั้ง 5 ขั้นตอนเป็นพิเศษ ซึ่งศัตรูที่เจ้าของฟาร์มเห็ดควรศึกษาให้รู้จักธรรมชาติ และลักษณะการระบาด เพื่อป้องกันก่อนก่อให้เกิดความเสียหายกับฟาร์ม ศัตรูเห็ดแบ่งได้เป็น 2 ประเภทคือ
1.แมลง-ศัตรูเห็ด
2.โรคเห็ด
หลักการบริหาร โรคและแมลงศัตรูเห็ด
1.การผลิตเห็ดนั้น การรักษาความสะอาดอย่างถูกหลักอนามัยและบริเวณรอบโรงเรือนเป็นสิ่งสำคัญและ จำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งอาจกระทำได้โดยการดูแลรักษาความสะอาดของผู้เข้าไปปฏิบัติงานหรือผู้เข้า ไปเยี่ยมชมอย่างเคร่งครัด หรือก่อนที่จะนำเอาถุงก้อนเห็ดเข้าโรงเรือนเพาะ ควรผ่านการฆ่าเชื้ออย่างถูกวิธีทุกครั้ง และก้อนเห็ดที่เน่าเสียทุกถุง ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุอะไรควรนำออกไปทำลายโดยทันที ถ้าสามารถทำได้เช่นนี้ อย่างน้อยก็จะเป็นการหลีกเลี่ยงหรือลดการเสี่ยงต่อการระบาดทำลายของโรค และแมลง-ศัตรูเห็ด ได้มากกว่า 90%
2.การพักโรงเรือนหรือทำโรงเรือนเพาะให้ว่างเปล่าไว้สักระยะหนึ่ง จะเป็นการตัดวงจรชีวิตโรคและแมลง-ศัตรูเห็ดชนิดต่างๆ ที่ระบาดสะสมอยู่ในโรงเรือนได้
3.การดูแลเอาใจใส่ หมั่นสังเกตในการเปลี่ยนแปลงของเห็ดที่เพาะไว้ทุกระยะอย่างละเอียดเท่าที่จะ ทำได้ การหมั่นเสาะแสวงหาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การนำเอาเครื่องดักจับไฟฟ้าชนิดหลอด (ฺBlack Light) หรือกับดักกาวเหนียว ( Sticky Trap) มาใช้ในโรงเรือนเพื่อการควบคุมปริมาณตัวแก่ของแมลงศัตรูเห็ด ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมาก
4.สำหรับท่านที่กำลังจะคิดขยายกิจการเพาะเห็ดให้ใหญ่โตกว้างขวางขึ้นไป ก็ควรจะมีการวางแผนการจัดการในระดับต่างๆให้ได้ก่อนลงมือดำเนินการเช่น มีการวางแผนล่างหน้าเกี่ยวกับสายพันธุ์ การอารักขาพืชและการตลาด เป็นต้น ซึ่งควรวางแผน 2 แบบ คือ แผนปฏิบัติการเมื่อเหตุการณ์ปกติและฉุกเฉิน
5.การเก็บผลผลิต
การเก็บดอกเห็ดสำหรับเห็ดแต่ละชนิด
- เห็ดฟาง เก็บเมื่อดอกเห็ดโตเต็มที่ มีปลอกหุ้มดอกเต่งตึง
- เห็ดนางรม นางฟ้า นางนวล เป๋าฮื้อ เก็บเมื่อดอกบานประมาณ 50%
- เห็ดหูหนู เก็บเมื่อดอกบานย้วยเต็มที่
- เห็ดตีนแรด เก็บในขณะที่ขอบหมวกเห็ดยังงุ้มอยู่
- เห็ดขอนขาว นิยมรับประทานดอกอ่อน หรือหมวกเห็ดมีเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 3 ซม.
- เห็ดหลินจือ เก็บเมื่อหมวกเห็ดแผ่บานเต็มที่
- เห็ดยานางิ เก็บเมื่อกลุ่มดอกเห็ดโตเต็มที่ แต่ของหมวกยังงุ้มอยู่และเนื้อเยื่อที่ยึดที่ขอบหมวก กับก้านเห็ดยังไม่ขาดออก โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางหมวกประมาณ 3-10 ซ.ม. และมีก้านยาวประมาณ 5-11 ซ.ม.
ควรเก็บดอกเห็ดในช่อเดียวกันทั้งหมด อย่าให้มีเศษเหลือติดค้างอยู่กับก้อนเชื้อเนื่องจากจะทำให้เศษเหลือทิ้งเน่า เชื้อโรคและแมลงจะเข้าทำลายได้เมื่อมีการบริหารจัดฟาร์มเห็ดตามที่ได้กล่าว ข้างต้นแล้ว เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะประสบความสำเร็จในการเพาะเห็ดอย่างแน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น